มูลนิธิ “พระดาบส” - เกี่ยวกับโครงการ - โครงการ อาชีวะสร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส วิทยาลัยการอาชีพโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์


มูลนิธิ “พระดาบส”
  ครูอ๊อด รฐศาสตร์
  รายละเอียด   ส่งข้อความ โพสต์เมื่อ : 03 กุมภาพันธ์, 2568, 08:41:44 AM 134 0


“ไม่มีวุฒิ…แต่มีกิน เปลี่ยนเด็กยากไร้ สู่นายช่างที่พ่อสร้าง”


“…ขณะนี้ยังมีบุคคลอีกเป็นจำนวนมากที่มีความตั้งใจจริง มีศรัทธาขวนขวายหาความรู้เป็นวิชาชีพใส่ตน แต่ประสบปัญหา ไม่มีความรู้พื้นฐาน และไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาวิชาชีพระดับต่าง ๆ ได้ หากมีช่องทางช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ ให้มีความรู้ วิชาชีพที่เขาย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้…”พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานแก่พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ เลขาธิการคนแรกของ “มูลนิธิพระดาบส” พ.ศ. 2518



“มูลนิธิพระดาบส” โรงเรียนช่างที่พ่อสร้าง

“มูลนิธิพระดาบส” หรือ “โรงเรียนพระดาบส” เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2519 โดยพระองค์ทรงมีพระประสงค์จะช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือไม่มีวุฒิการศึกษาพื้นฐานพอที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับสูง ให้ได้มีวิชาชีพติดตัว หาเลี้ยงตนเองได้

ผู้ที่จะเข้ามาเป็นนักเรียนของโรงเรียนพระดาบส ไม่ต้องมีวุฒิการศึกษา ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ขอเพียงมีความประพฤติดี มีความเพียร และมีใจใฝ่ทุ่มเทศึกษาอย่างแท้จริง เพราะโรงเรียนพระดาบสนั้นจะมีลักษณะเป็นโรงเรียนประจำ ที่กำหนดให้นักเรียนทุกคนต้องอาศัยอยู่กินที่โรงเรียนตลอดหลักสูตร 1 ปี ทั้งนี้เพื่อฝึกฝนวิชาและขัดเกลาจิตใจไปพร้อมกัน

ที่มาของชื่อ “พระดาบส”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานชื่อ “พระดาบส” ให้แก่โครงการนี้ ด้วยทรงเห็นว่าโรงเรียนนี้คล้ายกับดาบสหรือฤๅษีในสมัยโบราณ ที่ถ่ายทอดทั้งวิชาและคุณธรรมให้แก่ศิษย์โดยไม่หวังผลตอบแทน แต่ศิษย์จะต้องเป็นผู้มีความมุมานะ มีศีลธรรมจรรยา ปฎิบัติดี ปฏิบัติชอบ และเชื่อฟังครูอาจารย์ อีกทั้งโรงเรียนนี้ยังเป็นโรงเรียนกินนอน คล้ายกับศิษย์ที่ต้องฝากตัวเฝ้ารับใช้พระฤๅษีผู้เป็นอาจารย์นั่นเอง

จุดเริ่มต้น

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนประเดิมให้แก่โครงการพระดาบส โดยทดลองรับศิษย์รุ่นแรก 6 คน เข้าพักอาศัยและฝึกฝนวิชาช่างไฟฟ้าและช่างวิทยุโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สถานที่เริ่มแรกเป็นเพียงบ้านไม้ 2 หลังของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บนถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

จากศิษย์รุ่นแรก พบว่าการฝึกฝนได้ผลตอบรับดี นักเรียนสามารถซ่อมวิทยุได้ในเวลา 9 เดือน จึงมีการเปิดหลักสูตรเพิ่ม ได้แก่หลักสูตรวิชาเครื่องยนต์และเตรียมช่าง ในช่วง 5 ปีแรกของการก่อตั้ง มีนักเรียนสำเร็จหลักสูตรทั้งสิ้น 60 คน โดยนักเรียนส่วนมากมักเป็นทหารผ่านศึกที่ต้องการความรู้ไปประกอบวิชาชีพ

ต่อมาในปี 2532 โครงการพระดาบสได้รับการจดทะเบียนเป็น “โรงเรียนพระดาบส” และก่อตั้งเป็น “มูลนิธิพระดาบส” อย่างเต็มรูปแบบ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวน 5 ล้านบาทเข้ากองทุนโรงเรียนพระดาบส ทรงดำรงค์ตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงค์ตำแหน่งรองประธานกิตติมศักดิ์

โรงเรียนพระดาบสในปัจจุบัน

ปัจจุบันโรงเรียนพระดาบสมีการขยับขยายขึ้นกว่าเดิมมาก มีการเปิดหลักสูตรเพิ่มเป็นทั้งหมด 8 สาขาอาชีพ ได้แก่
- ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า
- ช่างอิเล็กทรอนิกส์
- ช่างซ่อมบำรุง
- การเกษตรพอเพียง
- ช่างไม้เครื่องเรือน
- ช่างเชื่อม
- เคหบริบาล

โรงเรียนพระดาบสยังคงตั้งอยู่บนถนนสามเสน (ตรงข้ามหอสมุดแห่งชาติ) แต่มีอาคารและพื้นที่ที่กว้างขวางมากขึ้น หลักปฏิบัติเหมือนเริ่มแรก คือเป็นโรงเรียนประจำ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ใช้เวลา 1 ปีในการเรียนตลอดหลักสูตร ในแต่ละปีจะรับนักเรียนเพียง 150 คน รวมทั้งชายและหญิง โดยจะคัดเลือกจากผู้สมัครอายุ 17-35 ปี ที่อ่านออกเขียนได้ มีความประพฤติดี มีความตั้งใจ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และเมื่อเรียนจบหลักสูตร จะได้รับพระราชทานประกาศนียบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

โอกาสสำหรับผู้ด้อยโอกาส
การเป็นศิษย์พระดาบส แม้ไม่มีวุฒิปริญญา แต่ก็มีประกาศนียบัตรพระราชทาน เมื่อออกไปประกอบวิชาชีพ ย่อมไดรับความไว้วางใจจากสังคม ว่าผ่านการขัดเกลามาแล้วอย่างประณีตทั้งด้านความเชี่ยวชาญการงานและด้านคุณธรรม และเป็น “นายช่างที่พ่อสร้าง” โดยแท้จริง

ที่มา: มูลนิธิพระดาบส